วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ ( Intramuscular injection )

 จุดประสงค์
•  ให้ยาดูดซึมได้เร็วกว่าการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง
•  ให้ยาที่มีปริมาณมากกว่าการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง
•  ลดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อเมื่อฉีดยาบางชนิด
เครื่องใช้
•  บันทึกการให้ยาของผู้ป่วย หรือการ์ดยาและคำสั่งการรักษา
•  ยาปลอดเชื้อ
•  ตัวทำละลาย เช่น น้ำกลั่นสำหรับผสมยา (ถ้าเป็นผง)
•  เข็มปลอดเชื้อ ขนาดเบอร์ 20 – 22 ขึ้นอยู่กับความข้นหนืดของยา ความยาวประมาณ 1 1/2 - 2 นิ้ว ขึ้นอยู่กับขนาดตัวของผู้ป่วย
•  กระบอกฉีดยาปลอดเชื้อขนาดบรรจุ 2 – 5 มิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับขนาดของยา
•  น้ำยายับยั้งเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% ทิงเจอร์ไอโอดีน 2.5%
•  สำลีปลอดเชื้อบรรจุในภาชนะปลอดเชื้อ
•  ปากคีมปลอดเชื้อ
•  ใบเลื่อยสำหรับเปิดยาหรือตัดหลอดยา
•  ชามรูปไต 1 ใบ สำหรับใส่ของที่ใช้แล้ว
•  ถาดใส่เครื่องใช้หรือรถเข็น
ตำแหน่งที่ฉีดยา
•  ตะโพกด้านข้าง ( ventrogluteal site )
•  ตะโพกด้านหลัง ( dorsogluteal site )
•  ต้นขาด้านข้าง ( vastus lateralis site )
•  ต้นขาด้านหน้า ( rectus femoris site )
•  ต้นแขนใกล้ไหล่ ( deltoid site )

วิธีหาตำแหน่งที่ฉีดยา
•  ตะโพกด้านข้าง ( ventrogluteal site ) วางฝ่ามือซ้ายลงบนบริเวณ greater trochanter ที่ตะโพกขวาให้นิ้วหัวแม่มือหันไปทางด้านศีรษะโดยนิ้วชี้ชี้ไปที่ anterior superior iliac spine กางนิ้วกลางออกไปให้กว้างที่สุด จะมีรูปลักษณะตัว V ขึ้น บริเวณที่ใช้ฉีดยาคือกึ่งกลางของตัว V
•  ตะโพกด้านหลัง ( dorsogluteal site ) โดยการแบ่งกล้ามเนื้อตะโพกออกเป็นสี่ส่วนบริเวณที่ฉีดยาได้ คือด้านบนสุดส่วนนอก หรือลากเส้นจาก posterior superior iliac spine ไปยัง trochanter ของกระดูกต้นขา ตรงจุดกึ่งกลางเหนือเส้นนี้คือบริเวณที่ฉีดยาได้
•  ต้นขาด้านข้าง ( vastus lateralis site ) ใช้ฝ่ามือวางที่ส่วนบนของเข่า อีกมือหนึ่งวางฝ่ามือต่ำกว่าส่วนต้นของ greater trochanter บริเวณที่ฉีดจะอยู่กึ่งกลางของกล้ามเนื้อมัดนี้คือต้นขาด้านข้าง
•  ต้นขาด้านหน้า ( rectus femoris site ) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านหน้าของต้นขาบริเวณที่ใช้ฉีดคือตรงกลางของหน้าขา โดยแบ่งความยาวของต้นขาจากหัวเข่าถึงขาหนีบออกเป็น 3 ส่วน ฉีดตรงส่วนกลาง มักใช้ฉีดในเด็กเล็ก •  ต้นแขนใกล้ไหล่ ( deltoid site ) คือบริเวณที่ต่ำกว่ากระดูกหัวไหล่ลงมา (acromion process) ประมาณ 5 เซนติเมตร ( 2 นิ้ว ) หรือใช้นิ้ว 4 นิ้ววางที่กล้ามเนื้อหัวไหล่ ให้นิ้วที่หนึ่งอยู่บนปุ่มกระดูกหัวไหล่ บริเวณที่ฉีดคือส่วนที่ต่ำกว่าสามนิ้วมือลงมา
วิธีการฉีดยา
•  ตรวจสอบบันทึกการให้ยาให้ตรงกับคำสั่งการรักษา
•  หยิบยาให้ตรงกับบันทึกการให้ยา หรือการ์ดยา ตรวจสอบยายังไม่หมดอายุ
•  ล้างมือให้สะอาด
•  เตรียมยาฉีดตามจำนวนที่ต้องการโดยวิธีที่ถูกต้อง
•  ถามชื่อและนามสกุล โดยให้ผู้ป่วยเป็นผู้บอกชื่อและนามสกุลของตัวเอง
•  เลือกตำแหน่งที่ฉีดยา ที่ไม่มีการอักเสบ บวม แดง คัน มีแผลเป็นไตแข็ง หรือลักษณะเนื้อเยื่อถูกทำลาย เนื่องจากฉีดยาช้ำที่บ่อยs
•  เช็ดบริเวณที่ฉีดยา ด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดจุดที่จะแทงเข็มหมุนออกเป็นวงกลมกว้าง 2 นิ้ว รอให้แห้ง
•  ถือกระบอกฉีดยา ให้ตั้งฉากกับพื้นในระดับสายตา ถอดปลอกเข็มออก
•  ไล่อากาศในกระบอกฉีดยาโดยถือกระบอกฉีดยาให้ตั้งตรงและค่อย ๆ ดันลูกสูบจนกระทั่งเห็นยาเข้าไปอยู่เต็มหัวเข็ม ตรวจสอบจำนวนยาให้ถูกต้อง จับกระบอกฉีดยาให้ถนัด
•  จับผิวหนังให้ตึง โดยยกขึ้นหรือดึงลง จับกระบอกฉีดยาให้ปลายตัดของเข็มหงายขึ้น แทงเข็มฉีดยาเข้าชั้นกล้ามเนื้อ ให้เข็มทำมุม 60 องศาในคนผอม และ 90 องศาในคนอ้วน และขึ้นอยู่กับกล้ามเนื้อที่จะฉีดด้วย แทงเข็มลึกประมาณ 1.5 – 2 นิ้ว กล่าวคือ กล้ามเนื้อเล็กแทงเข็มตื้น กล้ามเนื้อใหญ่แทงเข็มได้ลึกกว่า
•  ดึงลูกสูบออกเล็กน้อย เพื่อทดสอบว่าปลายเข็มแทงถูกหลอดเลือดหรือไม่
•  ถ้าไม่พบเลือดในกระบอกฉีดยา ให้ดันยาเข้าไปช้า ๆ จนหมด
•  ใช้สำลีแห้งวางเหนือจุดแทงเข็ม ดึงเข็มออกโดยเร็วตามทิศทางเดียวกับที่แทงเข็ม เลื่อนสำลีกดรอยเข็ม
•  คลึงบริเวณที่ฉีดยาเบา ๆ ถ้ามีเลือดออกให้ใช้สำลีแห้งหรือก็อซกดไว้สักระยะจนกว่าเลือดจะหยุด
•  เก็บเครื่องใช้และทำความสะอาดให้ถูกวิธี
•  ลงบันทึกการให้ยา และบันทึกการพยาบาลเกี่ยวกับยา ขนาด วิถีทางและตำแหน่งที่ฉีดยารวมทั้งอาการผิดปกติภายหลังฉีดยาแล้ว
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น